วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

33 กฏทองสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ - วิชัย กอสงวนมิตร กฏที่ 20 ตอนที่ 2

สวัสดีทุกท่าน วันนี้เรามาดูกฏที่ 20 ตอนที่ 2 ต่อจากเมื่อวานนี้ครับ

ต้องกล้าให้อำนาจ
ผู้นำบางคนมอบหน้าที่ความรับผิดชอบให้ลูกน้องไปแล้ว โดยไม่เคยมอบอำนาจให้เขาสามารถสั่งการ ควบคุม หรือแม้แต่ตัดสินใจเรื่องใดๆ ได้เลย ยังพอใจที่จะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวผู้นำเหมือนเดิม หัวหน้างาน(หมายถึงตัวลูกน้องที่ได้รับมอบหน้าที่เป็นหัวหน้างาน-ณกฤศ)ที่ไม่สามารถพิจารณาความดีความชอบของลูกน้อง ฯลฯ ลูกน้องย่อมจะเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังก็ได้ แล้วคุณจะบอกว่าหัวหน้างานทำหน้าที่ไม่สำเร็จได้อย่างไร
สาเหตุหลักของการไม่ให้อำนาจหัวหน้านั้น เท่าที่ผมสังเกตมา ล้วนเกิดจากความระแวงของผู้นำครับ ผู้นำบางคนระแวงมากถึงขนาดกลัวว่าลูกน้องจะเก่งตามทัน และบางคนก็ระแวงว่าลูกน้องจะรวมกันต่อต้านตัวผู้นำ หากคุณคิดอย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปหวังว่าลูกน้องจะทุ่มเทใจให้คุณ และช่วยเหลือปกป้องผู้นำของเขา เพราะต่างฝ่ายก็ต่างไม่ได้มีความจริงใจให้ต่อกัน ก็จงระแวงกันต่อไปตลอดชีวิตการทำงานแล้วกัน ผู้นำบางคนมักจะชอบอ้างว่ายังไม่สามารถมอบอำนาจให้ลูกน้องได้ เพราะกลัวลูกน้องใช้อำนาจไม่เป็น หากตัวผู้นำใช้อำนาจเป็น ทำไมคุณไม่สอนลูกน้องใ้ห้ใช้อำนาจเป็นล่ะครับ ข้อแก้ตัวเช่นนี้ฟังไม่ขึ้นหรอกครับ

ติดตามตอนที่ 3 เต็มที่กับผลตอบแทนลูกน้อง ในวันพรุ่งนี้ครับ

33 กฏทองสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ - วิชัย กอสงวนมิตร



"การเป็นผู้นำที่ดีนั้นยาก และการเป็นผู้นำที่ไม่ดี เป็นการทำบาปมหันต์"
    
    บทความนี้นำมาจากหนังสือ 33 กฎทอง สู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ แต่งโดยวิชัย กอสงวนมิตร ราคาเล่มละ 165 บาท ค่าย Think Beyond ทดลองอ่าน
    ในกฎแต่ละข้อจะแบ่งออกเป็น 3 ข้อย่อย รวมทั้งหมด 99 ข้อ เลขกำลังสวย กฎที่ผมอ่านผ่านมา 19 ข้อนั้นโดนใจผู้ตามที่หัดจะเป็นผู้นำอย่างผมสุดๆ หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายเข้าใจง่าย เขียนได้ชัดเจนดีมากๆ ครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ำนำก็สามารถอ่านเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เป็นประสพการณ์ที่ถ่ายทอดออกมาให้เราอ่านโดยที่เราไม่ต้องหลงออกนอกเส้นทางให้เสียเวลา
    หากคุณเป็นผู้นำแล้วจงอ่านเถิดครับ ยิ่งอยู่สูงคุณจะยิ่งมองไม่เห็นด้านข้างครับ เหมือนกับการเหลิงอำนาจนั่นแหละ คนทุกๆ ไม่ว่า รวย จน มีเกียรติความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นจงปฏิบัติต่อทุกคนโดยยึดหลักเดียวกันครับ
    ผมจะนำมาให้ชมเฉพาะกฎข้อที่ 20 เท่านั้น เพราะมันค่อนข้างโดนใจผมและอีกหลายๆ คนในตอนนี้ ข้อย้ำว่าไม่ใช่เรื่องผลตอบแทนนะครับ เพราะเงินสำหรับผมแล้วไม่ได้มีค่ามากกว่าจิตใจของคนครับ แต่ไม่ใช่ว่าข้อที่ผ่านๆมาจะไม่โดนใจนะครับ ขอบอกว่าสุดยอดจริงๆ คุ้มค่าเกินราคาหนังสือมากๆ ต้องขอขอบคุณ คุณวิชัย กอสงวนมิตร ที่เขียนหนังสือเล่มที่นี้ออกมาครับ
ณกฤศ ภูริธนรัตน์
กฎข้อที่ 20 มอบอำนาจ หน้าที่ ผลตอบแทนให้สมดุล
1.มอบหน้าที่ พร้อมความรับผิดชอบ

    เป็นเรื่องแปลกมากที่หนังสือเรียนวิชาการบริหารทุกเล่ม จะมีการอธิบายถึงคำว่า หน้าที่ ความรับผิดชอบ อำนาจ และผลตอบแทนอย่างละเอียด แต่แทบไม่มีเล่มใดเลยที่จะเขียนเน้นย้ำว่า ทั้ง 3 หรือ 4 อย่างนี้จะต้องไปด้วยกันเสมอ ผู้นำจำนวนมากชอบที่จะกระจายงานโดยมอบหน้าที่ให้แก่ลูกน้องคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การมอบหน้าที่ให้แก่ลูกน้องนั้นจำเป็นต้องให้ผู้รับมอบมีความรับผิดชอบอย่างชัดเจน การมอบหมายงานก็เป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งที่ผู้นำทุกคนจะต้องเรียนรู้ และจะต้องมีการติดตามผลการปฎิบัติตามสิ่งที่มอบหมายไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำยังต้องคอยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือดูแลลูกน้อง เพื่อให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ๆได้รับมอบหมายให้สำเร็จลงได้ แม้จะเกิดอุปสรรคมากน้อยเพียงใดก็ตาม ผมเห็นผู้นำจำนวนมากที่มอบหมายงานเพียงแค่ให้พ้นๆ ตัวออกไป แต่ขาดการติดตามดูแลในภายหลัง
    การจะมอบให้ใครทำอะไร รับผิดชอบเพียงใด เป็นเรื่องที่ผู้นำจะต้องคิดให้รอบคอบ ให้เหมาะกับความสามารถของผู้รับ ตลอดจนต้องมีความเป็นธรรมในการมอบหมายงานด้วย ผู้นำจำนวนไม่น้อยที่เมื่อถูกใจลูกน้องคนใด หรือลูกน้องคนใดที่ทำงานเก่ง ทำงานดี ก็จะได้รับงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระวังนะครับ อย่าว่าแต่คน เครื่องจักรหากทำงานหนักเกินไปโดยไม่ได้หยุดก็ยังพังได้ แล้วนับประสาอะไรกับคนที่มีความล้า และยังมีความรู้สึกส่วนลูกในจิตใจที่อาจไม่พอใจที่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ วันหนึ่งเขาอาจจะรับไม่ไหว สำนวนวัวตีบ่าแตก ผู้นำจะต้องระวังไว้ให้ดีครับ
    จบข้อย่อยที่ 1 ไว้พบกับข้อย่อยข้อที่ 2 ของกฎข้อที่ 20 กันครับ สวัสดีครับ